วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธรมาตั้งแต่แรกสร้างเมือง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง โบราณสถานที่สำคัญในวัดคือพระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก มีพระธาตุยโสธร หรือ พระธาตุอานนท์ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุง ศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ หอไตร เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานของวัด ตั้งอยู่ตรงกลางสระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนังมีลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบภาคกลางสันนิษฐานว่า หอไตรน่าจะสร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระธาตุอานนท์
พระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุอัฐิของพระอานนท์ ส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 8 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน มีความสูง 25 เมตร 30 เซนติเมตร เบื้องบนสุดเป็นยอดฉัตร และมีธาตุเล็กอีกองค์อยู่ด้านข้าง ซึ่งเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของเจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา (อดีตเจ้าเมืองสิงห์ท่า)
หอไตร วัดมหาธาตุ
หอไตรอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2373 โดยพระครูหลักคำ (กุคำ)เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุรูปที่ 3 ตัวอาคารหอไตรสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลาน พร้อมพระไตรปิฏก และตำราต่างๆซึ่งพระครูหลักคำเป็นผู้นำมาจากเมืองเวียงจันทน์
พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง
“พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์” หรือ “พระแก้วหยดน้ำค้าง“ หรือ “พระแก้วขาว” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างจากเนื้อแก้วใสสะอาดบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1.9 นิ้ว ศิลปะเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองยโสธร ในจารึกประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 80 เมื่อ พ.ศ.2440 (ร.ศ.115) กล่าวว่า ท้าวพญาเมืองจำปาศักดิ์ได้ถวายพระแก้วขาวแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย จึงโปรดให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2355 ต่อมารัชกาลที่ 3 พระราชทานให้ชาวเมืองยโสธร
ข้อมูลและรูปภาพ : 7 สิ่งหนึ่งเดียวในเมืองไทย พบได้ที่… ยโสธร